ประวัติของศาสตร์ฮวงจุ้ย

 



นักปราชญ์ของอาณาจักรจีนนั้นเป็นผู้ที่มีความสำคัญในการพัฒนาศาสตร์ฮวงจุ้ยซึ่งเมื่อเราเอ่ยถึงคำว่าปราชญ์ของคนจีนนั้นมีความหมายยิ่งใหญ่มากกว่านักวิชาการในปัจจุบันมาก เพราะปราชญ์จีนในสมัยก่อนนั้นมีการศึกษาทั้งทางด้านศาสนาวัฒนธรรม การปกครอง การสงคราม เขียนตำราพิชัยสงคราม การแพทย์ รวมไปจนถึงฮวงจุ้ยด้วย โดยศาสตร์ฮวงจุ้ยได้รับการพัฒนามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์เซี่ย (2,100 BC – 1,700 BC) ซึ่งเป็นราชวงศ์แรกของอาณาจักรจีน โดยปราชญ์ของจีนในสมัยนั้นได้ใช้ศาสตร์ด้านฮวงจุ้ยในการหาชัยภูมิที่เหมาะสมในสร้างเมือง เช่น การตรวจดินและพืชพันธุ์ว่ามีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอหรือไม่ การตรวจดูกระแสน้ำว่ามีการพาพลังจากธรรมชาติเข้ามาหรือออกไป ตรวจดูสภาพลมฟ้าอากาศ รวมไปถึงสุขภาพของสัตว์ที่อาศัยอยู่ภายในชัยภูมินั้นๆด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าชัยภูมินั้นมีพลังธรรมชาติที่ดีเข้ามาหล่อเลี้ยง ซึ่งจะทำให้ผู้คนที่อยู่ในเมืองนั้นได้รับพลังที่ดีจากธรรมชาติและมีความเจริญรุ่งเรือง 

การพัฒนาการของศาสตร์ฮวงจุ้ยทางด้านชัยภูมินั้นมารุ่งเรืองถึงที่สุดในสมัยราชวงศ์ฉิน (220 BC – 200 BC) ซึ่งแนวคิดของศาสตร์นี้ได้ถูกพัฒนามาจากการสร้างเมืองเพื่อป้องกันการรุกรานของอาณาจักรอื่นๆ โดยทิศด้านหลังและด้านข้างของเมืองต้องเป็นภูเขาสูงเพื่อเป็นแนวป้องกันการรุกรานของข้าศึกโดยเฉพาะอาณาจักรมองโกลที่อยู่เหนือขึ้นไป ซึ่งอาณาจักรมองโกลนั้นก็คือราชวงศ์หยวน (1279 AC – 1368 AC) นั่นเอง และยังเป็นการป้องกันสภาพอากาศที่หนาวเย็นเนื่องจากลมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดมาจากทางด้านไซบีเรียหรือรัสเซียในปัจจุบันด้วย และนี่เป็นเหตุผลให้ทางด้านซ้ายของเมืองควรจะมีสภาพภูเขาที่สูงกว่าทางด้านขวาของเมือง ส่วนด้านหน้าของเมืองนั้นจะเป็นแม่น้ำเพื่อใช้ในการทำการเกษตร โดยหากแม่น้ำมีลักษณะโค้งโอบเมืองก็จะทำให้ดินในฝั่งเมืองอุดมสมบูรณ์เนื่องจากมีการพัดพาเอาตะกอนเข้ามาเก็บไว้ ซึ่งผลงานในการสร้างกำแพงเมืองจีนของ "ฉินสื่อหวงตี้” หรือ “จิ๋นซีฮ่องเต้” ที่เรารู้จักกันดี ก็ได้นำมาจากหลักการส่วนหนึ่งของฮวงจุ้ยทางด้านชัยภูมินี้

อย่างไรก็ตามในยุคต่อๆมานักปราชญ์ของจีนได้สังเกตว่าภูเขาที่อยู่ใกล้กันมีความอุดมสมบูรณ์ไม่เท่ากันบ้านที่อยู่ใกล้กันแต่หันทิศทางต่างกันก็มีความเจิญไม่เท่ากัน หรือคนในบ้านเดียวกันเองก็มีความเจริญรุ่งเรืองต่างกัน นักปราชญ์ของจีนจึงได้มีสมมุติฐานว่าต้องมีตัวแปรสำคัญในการกำหนดปราณชี่หรือพลังธรรมชาติที่เข้ามาสร้างความเจริญรุ่งเรืองที่แตกต่างกัน จึงเป็นที่มาของการค้นคว้าหาความรู้ในเรื่อง "องศาทิศทาง” นั่นเอง โดยศาสตร์ในด้านองศาทิศทางนั้นได้เริ่มมีการใช้งานอย่างจริงจังในสมัยปลายราชวงศ์หมิง (1368 AC – 1644 AC) โดยปรมาจารย์ “เจี่ยต้าหง” (Jiang Da Hong) ผู้เป็นเจ้าของวลี "ความลับสวรรค์ มิอาจเปิดเผยได้” (Secret of heaven cannot be disclosed) เนื่องจากในสมัยนั้นฮวงจุ้ยยังเป็นศาสตร์ทางราชสำนักห้ามในการเปิดเผย จะมีการถ่ายทอดต่อไปได้แค่เพียงภายในตระกูลของปรมาจารย์เท่านั้น โดยปรมาจารย์ท่านที่มีส่วนสำคัญในการนำศาสตร์ของฮวงจุ้ยด้านองศาทิศทางมาเปิดเผยสู่สาธารณะชนนั้นได้แก่ ปรมาจารย์ "เสิ่นจูเหยิง” (Shen Ju Reng) ท่าน "จางจงซาน” (Zhang Zhong Shan) และท่าน "ตันหยางวู” (Tan Yang Wu) 

ท่านปรมาจารย์เจี่ยต้าหงนั้นถือว่าเป็นซินแสท่านแรกที่ศึกษาในศาสตร์วิชาดาวเหิรหรือเสวียนคงเฟิงสุ่ย (Xuan Kong Feng Shui) จนแตกฉาน โดยท่านถือเป็นซินแสอันดับหนึ่งในสมัยของราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง เป็นที่เล่าขานว่าไม่ว่าท่านเดินผ่านหน้าบ้านไหน บ้านนั้นจะเจอแต่ความเจริญรุ่งรือง และทุกครั้งที่มีคนถามท่านว่าเพราะเหตุใดท่านจึงสามารถทำให้เจริญรุ่งเรืองได้ ก็มักจะได้รับคำตอบว่าเป็น "ความลับสวรรค์ มิอาจเปิดเผยได้” โดยคัมภีร์ที่ท่านเขียนไว้นั้นมิได้เผยแพร่ให้บุคคลภายนอก จะอยู่แค่ภายในตระกูลและภายในราชสำนักเท่านั้น โดยซินแสในรุ่นหลังก็ได้มีความพยายามจะถอดรหัสวิชาของท่านเพื่อนำไปศึกษาต่อไป ดังนั้นท่านปรมาจารย์เจี่ยต้าหงจึงถือว่าเป็นซินแสผู้เป็นบิดาของวิชาทางด้านองศาทิศทางวึ่งถือว่าเป็นศาสตร์ชั้นสูงที่สุดของวิชาฮวงจุ้ย 

ส่วนท่านปรมาจารย์จางซงซาง, เสิ่นจูเหยิง และตันหยางวู นั้นถือเป็นปรมาจารย์รุ่นถัดมาที่ได้ถอดรหัสวิชาของเสวียนคงเฟิงสุ่ยมาจากท่านปรมาจารย์เจี่ยต้าหงและได้นำมาเผยแพร่ให้กับสาธารณะชนภายนอก โดยท่านปรมาจารย์เสิ่นจูเหยิงผู้นั้นถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากซินแสในรุ่นปัจจุบันมากที่สุด เพราะเป็นผู้ถอดรหัสวิชาของท่านปรมาจารย์เจี่ยต้าหงได้เป็นอย่างดีและนำมาเขียนเป็นคัมภีร์รวมทั้งถ่ายทอดให้แก่ซินแสรุ่นหลังโดยไม่เก็บเนื้อหาวิชาที่สำคัญไว้อย่างซินแสในรุ่นก่อนๆ โดยหลักวิชาเสวียนคงเฟิงสุ่ยหรือระบบดาวเหิรที่ซินแสชั้นนำของมาเลเซีย, สิงคโปร์ และ ฮ่องกง ได้นำมาใช้ก็เป็นเนื้อหาที่ปรมาจารย์เสิ่นจูเหยิงได้ถ่ายทอดไว้ในสมัยปลายราชวงศ์ชิงนั่นเอง 


ลำดับของการพัฒนาศาสตร์เสวียนคงเฟิงสุ่ยหรือดาวเหิร




ศาสตร์ฮวงจุ้ยนั้นมีการพัฒนามาเนิ่นนานกว่า 4,000 ปี อย่างไรศาสตร์ทางด้านองศาทิศทางที่ได้รับการยอมรับจากซินแสชั้นนำทั่วโลกในปัจจุบันนั้นได้รับการพัฒนามาประมาณ 400 ปี ปรมาจารย์เจี่ยต้าหงนั้นเป็นผู้ได้รับการยอมรับว่าเป็นบิดาของศาสตร์ดาวเหิรแต่เนื่องด้วยการที่ศาสตร์ฮวงจุ้ยในสมัยก่อนถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับสาธารณะชนทั่วไป ลักษณะการถ่ายทอดของปรมาจารย์เจี่ยต้าหงจึงออกมาในรูปของการเอ่ยถึงเรื่องฮวงจุ้ยเป็นเรื่องมหัศจรรย์และปาฏิหารย์ ในขณะที่ปรมาจารย์จางจงซานนั้นเป็นซินแสผู้นำวิชาเสวียคงเฟิงสุ่ยมาใช้หลังจากสมัยของปรมาจารย์เจี่ยต้าหงประมาณ 150 ปี ก็มิได้มีการพยายามถ่ายทอดแก่สาธารณชนรุ่นหลังแต่อย่างใด จะมีเพียงปรมาจารย์เสิ่งจูเหยิงเท่านั้นที่ได้ทำการเปิดเผยความลับสววรค์ของวิชาเสวียนคงเฟิงสุ่ยโดยไม่มีการเก็บงำความลับใดๆให้แก่สาธารณชนรุ่นหลัง โดยมีท่านปรมาจารย์ตันหยางวูเป็นผู้นำวิชาของท่านปรมาจารย์เสิ่นจูเหยิงไปทดสอบว่าเป็นหลักวิชาการที่มีความแม่นยำจริง โดยท่านปรมาจารย์ตันหยางวูนั้นเป็นซินแสในรุ่นหลังในช่วงที่อาณาจักรจีนเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบสาธารณะรัฐ

อย่างไรก็ตามเนื่องจากการที่ปรมาจารย์เสิ่นจูเหยิงได้ทำการเปิดเผยศาสตร์ของเสวียนคงเฟิงสุ่ยออกสู่สาธารณะชนอย่างไม่มีเงื่อนไขทำให้การเข้าถึงศาสตร์ดังกล่าวนั้นเป็นไปได้ง่ายกว่าในสมัยของปรมาจารย์เจี่ยต้าหง ดังนั้นทำให้ซินแสรุ่นหลังเห็นถึงความสำคัญของวิชาเสวียนคงเฟิงสุ่ยน้อยลง ให้ความสำคัญกับการศึกษาให้ถึงแก่นแท้น้อยลง จึงเป็นที่มาของการที่มีผู้ศึกษาวิชาดังกล่าวได้ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้และทำให้เกิดการเผยแพร่หลักวิชาการที่ไม่สมบูรณ์ออกไปในรุ่นถัดๆมา ดังนั้นในฐานะของซินแสรุ่นใหม่เราควรให้ความสำคัญของการศึกษาศาสตร์ฮวงจุ้ยให้ตกผลึกอย่างถ่องแท้ ก่อนที่จะนำไปให้คำปรึกษาสู่สาธารณะชนต่อไป





หน้าแรกฮวงจุ้ย