มารู้จักวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนกัน



          หลายๆ ครั้งเวลาให้คำปรึกษาไม่ว่าจะเป็นเรื่องฮวงจุ้ย ดวงจีน หรือเรื่องฤกษ์ยาม โดยเฉพาะช่วงปลายปี คำถามที่พบประจำคือ การเริ่มวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนเริ่มเมื่อไร หลายๆ คนให้ความสนใจ เพราะหากดวงหรือบ้านของเขาจะได้พบกับปีที่ดี ก็จะได้เตรียมพร้อมเพื่อคว้าจังหวะโอกาสที่จะเข้ามาได้อย่างรวดเร็ว แต่หากดวงหรือบ้านของเขามีการชงในปีใหม่ที่จะถึงนี้ ก็จะได้คอยตระเตรียมหรือระมัดระวัง เพื่อลดผลเสียที่อาจเกิดขึ้น ผมจะขอคัดเฉพาะหลักการใหญ่ๆ ที่ใช้ดูวันขึ้นปีใหม่มาเล่านะครับ


 

สำหรับในปีมะเมียที่จะถึงนี้ เราจะมาดูกันว่าควรจะนับการเริ่มปีใหม่เมื่อไรดี

 

          1. การดูปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติ หรือที่คนจีนเรียกว่าปฏิทิน "หนงลี่" ส่วนคนไทยที่นิยมเรียกกันว่าปฏิทินน่ำเอี๊ยง (ตามชื่อสำนักที่ทำปฏิทินนี้) นั่นเอง ถือว่าเป็นปฏิทินที่คนจีนทั่วโลกใช้กันมากที่สุด โดยการคิดค้นปฏิทินนี้ใช้การดูวงโคจรของดวงจันทร์รอบโลกของเรา ซึ่งหนึ่งรอบนั้นอยู่ที่ประมาณ 29-30 วัน (หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 29.53 วัน) สังเกตจากคืนวันพระจันทร์เต็มดวง 1 ครั้งก็นับเป็น 1 รอบ เมื่อครบ 12 รอบจะอยู่ที่ 354 วัน ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบ (หรือที่เรียกว่ารอบหนึ่งปี) ที่ 365 วัน ปฏิทินระบบนี้คิดค้นมานานกว่า 4,000 ปีแล้ว สะดวกกับการบอกหรือสอนชาวบ้านทั่วไปในการนับเดือนนับปี สมัยก่อนจึงเรียกปฏิทินนี้ว่า “ปฏิทินชาวนา” หรือ “ปฏิทินชาวบ้าน”



ปฏิทินจีนหรือที่เราเรียกกันว่าปฏิทินน่ำเอี๊ยง ถูกคิดค้นมาตามระบบปฏิทินจันทรคติ หรือดูตามวงโคจรของดวงจันทร์เมื่อเทียบกับโลก

          แต่เนื่องจากความแตกต่างของจำนวน 11 วันต่อปี ทำให้รอบปีของปฏิทินจันทรคตินั้นไม่ตรงกับปฏิทินสุริยะคติ (หรือการนับวันตามการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์) จึงต้องเพิ่มเดือนซ้ำคล้ายๆ กับเดือนแปดสองหนของปฏิทินไทย และยังส่งผลให้ “วันชิวอิก” หรือวันตรุษจีน หรือวันที่หนึ่งเดือนหนึ่งของปฏิทินจันทรคติไม่ตรงกันแม้แต่ปีเดียว เช่น ปีมะเส็ง พ.ศ.2556 วันชิวอิก คือ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ แต่ในปีมะเมีย พ.ศ.2557 กลับเป็นวันที่ 31 มกราคม หรือในปีมะแม พ.ศ.2558 กลับเป็นวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ทำให้ซินแสหรืออาจารย์ฮวงจุ้ยสายวิชาการที่ต้องการดูปีใหม่สำหรับการจัดปรับฮวงจุ้ย ดูดวง หรือหาฤกษ์ยามแบบละเอียด จะใช้การดูปีใหม่ตามวิธีที่ 2 และ 3 ที่จะกล่าวถึงนี้

          2. การดูปีใหม่ตามปฏิทินสุริยะคติ ถือเป็นการดูปีใหม่ที่ซินแสหรืออาจารย์ฮวงจุ้ยตามระบบวิชาการในบางกลุ่มใช้กัน โดยเป็นการนับตามวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ที่หนึ่งรอบใช้เวลา 365-366 วัน เรียกว่าเป็นหนึ่งรอบปีอย่างแท้จริง โดยรอบเดือนหนึ่งจะอยู่ระหว่าง 30 ถึง 31 วัน แบ่งแต่ละเดือนออกมาเท่าๆ กันเป็น 12 เดือน มีวันขึ้นเปลี่ยนเดือนชัดเจน ในสมัยแรกของการคิดค้นนั้น ถือว่าวันขึ้นปีใหม่อยู่ในช่วงวันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งจะเป็นคืนในฤดูหนาวที่หนาวที่สุดก่อนจะเปลี่ยนไปสู่ฤดูใบไม้ผลิ (คล้ายๆ กับเวลาสากลในปัจจุบัน ที่เวลาเที่ยงคืน คือจุดเปลี่ยนสู่วันใหม่ ในทางดาราศาสตร์ถือเป็นเวลาเปลี่ยนปี เพราะเป็นวันที่โลกหันขั้วโลกเหนือออกจากดวงอาทิตย์มากที่สุด เป็นวันที่มีกลางคืนยาวนานที่สุดและมีกลางวันสั้นที่สุด) ซินแสในราชสำนักสมัยโบราณ จึงถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้นใหม่ของปี ดวงใครหรือบ้านใครจะดีจะร้ายจะต้องเตรียมพร้อมกันตั้งแต่ช่วงปลายปีทีเดียว



ในช่วงวันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคม ของทุกปี หรือที่เรียกว่า Winter Solstice จะเป็นช่วงที่โลกหันขั้วโลกเหนือออกห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด ถือเป็นช่วงที่เริ่มต้นปีใหม่ในระบบปฏิทินสุริยะคติ
 

          3. การดูปีใหม่จากการเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิของปฏิทินสุริยะคติ เป็นการปรับปรุงการคำนวณเนื่องจากในช่วงเดือนธันวาคมนั้น เป็นช่วงที่เมืองจีนถือว่าหนาวที่สุดในรอบปี การเริ่มปีใหม่ในช่วงเดือนธันวาคมจึงไม่ได้รับความนิยม ยุคหลังซินแสในราชสำนักจึงต้องปรับตัวตามสภาพการใช้ชีวิตจริง โดยเริ่มการนับปีใหม่ในช่วงเวลาระหว่างช่วงกลางของฤดูหนาว (วันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคม) กับช่วงกลางของฤดูใบไม้ผลิ (วันที่ 21 หรือ 22 มีนาคม) ได้แก่ วันที่ 4 หรือ 5 กุมภาพันธ์ของทุกปีนั่นเอง (แต่การนับฤดูกาลในบางระบบถือว่านี่เป็นจุดเริ่มของฤดูใบไม้ผลิด้วย) เพราะถือว่าเป็นช่วงที่อากาศกำลังสบายผู้คนเตรียมพร้อมเริ่มต้นทำงานอย่างจริงจัง การนับปีระบบนี้ได้รับความนิยมจากซินแสในระบบวิชาการ เพราะได้ทั้งเรื่องของความแม่นยำในการคำนวณที่มากกว่าการใช้ปีใหม่ในระบบปฏิทินจันทรคติ และก็เหมาะกับสภาพการใช้ชีวิตจริงๆ ของคนด้วย

ในปัจจุบันมีการปรับปรุงการขึ้นปีใหม่เป็นช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิของทุกปี ได้แก่ช่วงวันที่ 4 หรือ 5 กุมภาพันธ์ เป็นวันขึ้นปีใหม่ของศาสตร์ฮวงจุ้ยตามระบบปฏิทินสุริยะคติ

 

          ดังนั้น คำถามที่ว่าเราควรเลือกใช้การขึ้นปีใหม่ปีมะเมียนี้ตามระบบไหน ผมขอตอบเป็นแนวทางได้ว่า หากมองการขึ้นปีใหม่เป็น “วันตรุษจีน” เป็นเรื่องของการเฉลิมฉลอง การพบปะสังสรรค์กันภายในครอบครัว หรือเพื่อสืบสานประเพณีอันดีงามของคนเชื้อสายจีน เราก็ควรเลือกวันปีใหม่จากวัน “ชิวอิก” ของปฏิทินจันทรคติ ได้แก่ วันที่ 31 มกราคม 2557 เพราะมีความเป็นสากลและได้รับความนิยมมายาวนาน

         
แต่หากมองประโยชน์ของการนับปีใหม่เป็นเรื่องของการจัดฮวงจุ้ยหรือการอ่านดวงเพื่อให้ถูกต้องอย่างถ่องแท้ การดูการขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินสุริยะคติ ไม่ว่าจะเป็นในระบบโบราณ (ขึ้นปีมะเมียในวันที่ 22 ธันวาคม 2556) หรือระบบปรับปรุง (ขึ้นปีมะเมียในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2557) จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามระบบวิชาการและได้รับผลดีมากกว่าครับ

หน้าแรกฮวงจุ้ย